ข้อควรรู้ ก่อนโดนไฟแนนซ์ยึดรถ และวิธีรับมือ

Written by: admins | Date: 20 October 2558 | 2002 Views

หลังจาก ที่เป็นข่าวในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ว่ามีแก๊งต้มตุ๋นใช้ช่องว่างหลอกลวง อ้างว่าบริษัทไฟแนนซ์ส่งมาเพื่อทำการยึดรถยนต์ และด้วยความที่ตกใจ และกลัว ประกอบกับแก็งพวกนี้ มีเอกสารกรรมสิทธิ์ผู้ครอบครองฉบับปลอมแปลง มาโชว์สร้างความน่าเชื่อถือ และขอตรวจยึดรถ โดยมิจฉาชีพพวกนี้ส่วนมากเคยเป็นพนักงานตรวจยึดรถของบริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งมาก่อน จึงมีประสบการณ์และมีเครือข่ายที่ติดต่อซื้อข้อมูลรถลูกค้าในราคาคันละ 3 บาท เพื่อใช้เป็นข้อมูล

car-finance
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านทุกท่าน ผมจึงขอนำเสนอสาระสำคัญ ของขั้นตอนการยึดรถตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องในเมืองไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ และ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา) มาให้พวกเราได้ทราบเป็นความรู้ และป้องกันการยึดรถที่ไม่ถูกต้องกัน

ต้องเลิกสัญญากันก่อน

  • ก่อนที่ไฟแนนซ์จะยึดรถเราไปได้นั้น สัญญาเช่าซื้อจะต้องถูกยกเลิกก่อน ซึ่งเงื่อนไขของการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อคือ ผู้เช่าซื้อจะต้องผิดนัดค้างชำระ 3 งวดติดกัน ต่อจากนั้นไฟแนนซ์จะต้องบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ชำระเงินรายงวดที่ค้างชำระนั้น ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน หากผู้เช่าซื้อละเลยไม่ปฏิบัติตาม ไฟแนนซ์จึงจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้โดยการบอกกล่าวเลิกสัญญา ซึ่งการบอกกล่าวเลิกสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้เช่าซื้อตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา หรือที่อยู่ที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด ถ้าไฟแนนซ์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งมายังผู้เช่าซื้อ ถือว่าสัญญายังมีผลอยู่ ไม่สามารถยึดรถได้
  • การยึดรถหลังบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว ส่วนใหญ่ไฟแนนซ์ไม่ยึดรถด้วยตนเอง เพราะมีความยุ่งยากและกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ มักจะจ้างสำนักงานทวงหนี้เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งบริษัทรับจ้างยึดรถจะต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการในการติดตามทวงหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับประกาศวันที่ 3 ส.ค. 2551 ดูรายละเอียดได้ที่นี่) เพื่อไม่ให้ไปล่วงละเมิดสิทธิของผู้เช่าซื้อ

วิธีรับมือหากท่านกำลังถูกไฟแนนซ์ขู่ยึดรถ ให้ใจเย็น ๆ ไม่ต้องตกใจ

  • ไฟแนนซ์มักขู่เรียกค่าเสียหายสูง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ การค่าเสียหายเรียกได้ตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ดังนั้นผู้เช่าซื้ออย่าวิตก
  • หากเราไม่ยินยอมให้ยึดรถ ไฟแนนซ์จะยึดรถไม่ได้ และถ้ามีการบังคับขู่เข็ญ หรือไล่ให้ผู้เช่าซื้อลงจากรถ หรือกระชากกุญแจรถไป หรือแม้แต่เอากุญแจสำรองมาเปิดรถ และขับหนีไปถือว่าทำความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และถ้ากระทำการโดยมีอาวุธหรือร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนกระทำการดังกล่าวให้ถ่าย รูปหรือบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้เลย สามารถแจ้งความได้ทันทีหากถูกบังคับ หรือยึดรถไปด้วยวิธีไม่สมัครใจ
  • ข้อนี้สำคัญครับ ถ้าคุณไม่ได้แคร์การติดแบล็คลิสต์  “เครดิตบูโร” ไม่ควรให้ไฟแนนซ์ยึดรถไม่ว่าในกรณีใด ๆ เพราะถ้าถูกยึดรถแล้วเราก็จะหมดอำนาจต่อรองทันที และหลังจากยึดรถไปแล้ว ไฟแนนซ์จะนำรถของเราไปขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก ซึ่งส่วนมากมักจะไม่พอจ่ายหนี้ที่เราเป็นอยู่ และไฟแนนซ์จะเรียกค่าเสียหายจากเรา พูดง่าย ๆ ว่า “รถไม่มีแต่หนี้ยังอยู่” นั่นเอง
  • ในกรณีที่เราถูกยึดรถไปแล้ว และไฟแนนซ์มีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ อย่าตกใจให้หาทนายสู้คดี เพราะค่าเสียหายของไฟแนนซ์มักจะสูงจนเว่อร์ แต่ศาลมักพิพากษาให้จ่ายเพียง 30% หรือครึ่งเดียวเท่านั้นไม่มีเงินจ่ายไฟแนนซ์ ไม่ต้องติดคุก เพราะเป็นคดีแพ่งเท่านั้น
  • เมื่อแพ้คดี ไฟแนนซ์จะยึดทรัพย์ของเราที่ถือครองในนามลูกหนี้เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าเราไม่มี หรือเป็นทรัพย์ที่ถือครองโดยญาติ พี่น้อง ไฟแนนซ์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้ เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครเดือดร้อนเพราะคุณแน่นอน
  • คำถามที่หลายคนสงสัย และเป็นกังวลว่า “ถ้าไม่มีเงินจ่ายไฟแนนซ์จะติดคุกหรือไม่” คำตอบคือไม่ครับ เพราะเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา และการเป็นหนี้ไฟแนนซ์ ไม่ต้องลาออกจากงาน เพราะไม่มีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน การเป็นหนี้สินถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไฟแนนซ์ไม่สามารถนำเรื่องส่วนตัวไปประจานให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาของลูกหนี้รับรู้ได้ ถ้าทำถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเราสามารถฟ้องได้ครับ

แต่อย่างไรก็ตามบทความนี้เป็นเพียงวิธีการป้องกันการข่มขู่ และการเสียเปรียบ แต่อย่าเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรนะครับ

ข้อมูลจาก sanook.com เรียบเรียงใหม่

 


Relate posts

Comment box

ข่าวล่าสุด

 

สมัครงาน หางาน